เนื้อหา

- By Natpapat Jaruthaveesub
วิชาชีพอิสระ “ผู้สอบบัญชี”
บทความเกี่ยวกับวิชาชีพอิสระ “ผู้สอบบัญชี”
- หนึ่งในวิชาชีพอิสระที่น่าสนใจในสาขาวิชาชีพบัญชี คือ “ผู้สอบบัญชี” ผู้ที่ลงนามในรายงานการสอบบัญชีในงบการเงินของบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด โดยมีขอบเขตการตรวจสอบและความรับผิดชอบ เพื่อแสดงความเห็นในรายงานของผู้สอบบัญชีว่า เป็นไปตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไป ซึ่งรวมทั้งการทดสอบรายการบัญชี และวิธีการตรวจสอบอื่นที่เห็นว่าจำเป็นแล้ว โดยถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ในการตรวจสอบบัญชีนั้น ต้องใช้ดุลยพินิจ การสังเกต และสงสัยเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพตลอดการตรวจสอบ รวมถึงการระบุและประเมินความเสี่ยงจากการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของงบการเงิน ไม่ว่าจะเกิดจากการทุจริตหรือข้อผิดพลาด และได้หลักฐานการสอบบัญชีที่เพียงพอและเหมาะสม เพื่อเป็นเกณฑ์ในการแสดงความเห็นในรายงานการสอบบัญชี
- ความเสี่ยงที่จะไม่พบข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ซึ่งเป็นผลมาจากการทุจริตจะสูงกว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากข้อผิดพลาด เนื่องจากการทุจริตนั้น อาจเกี่ยวกับการสมรู้ร่วมคิด การปลอมแปลงเอกสารหลักฐาน การตั้งใจละเว้นการแสดงข้อมูล รวมทั้งการแสดงข้อมูลที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง เป็นต้น
- ดังนั้นผู้สอบบัญชี ควรที่จะยึดมั่นในจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี เพื่อใช้เป็นแนวทางในการควบคุมความประพฤติ และการดำเนินงานของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีให้ถูกต้องตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพบัญชีนะคะ
- “ผู้สอบบัญชี” ควรยึดมั่นในจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ในการควบคุมความประพฤติ และการดำเนินงานให้ถูกต้อง ดังนี้:-
- ความโปร่งใส หมายถึง ภาพลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติงานตามกฎระเบียบต่าง ๆ และมาตรฐานวิชาชีพที่กำหนดไว้ และไม่ปกปิดข้อเท็จจริง หรือบิดเบือนความจริงอันเป็นสาระสำคัญ ซึ่งสามารถติดตามตรวจสอบได้
- ความเป็นอิสระ หมายถึง การปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอิทธิพลของบุคคลอื่นที่ทำให้เกิดความสงสัยในความเป็นกลาง หรือความเที่ยงธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ซึ่งความเป็นอิสระนี้ต้องเป็นที่ประจักษ์ เพื่อให้ผลงานของตนเป็นที่น่าเชื่อถือได้
- ความเที่ยงธรรม หมายถึง การใช้ดุลยพินิจเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ โดยปราศจากความลำเอียง อคติ ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และอิทธิพลของบุคลลอื่น
- ความซื่อสัตย์สุจริต หมายถึง ความประพฤติอย่างตรงไปตรงมา จริงใจ ซื่อตรงต่อวิชาชีพ ไม่คดโกง ไม่หลอกลวง ปฏิบัติงานบนหลักฐานที่เป็นจริงและเชื่อถือได้ ไม่อ้างหรือยินยอมให้บุคคลอื่นอ้างว่าได้ปฏิบัติงาน ถ้าไม่ได้ปฏิบัติงานจริง
- ความรู้ความสามารถ หมายถึง การใช้ความรู้ความสามารถ ความชำนาญในการปฏิบัติงานด้วยความเอาใจใส่อย่างเต็มความสามารถ ระมัดระวังรอบคอบที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และมั่นใจว่าผลงานทางวิชาชีพอยู่บนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ มาตรฐานในการปฏิบัติงานและวิชาการที่เกี่ยวข้อง
- การรักษาความลับ หมายถึง ไม่นำข้อมูลใด ๆ ที่โดยปกติองค์กรไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนไปเปิดเผยหรือใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนหรือบุคคลอื่น เว้นแต่กรณีที่เปิดเผยตามสิทธิหรือหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย หรือในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
- รวมทั้งกระทำการใด ๆ ไม่ให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพบัญชี เป็นต้น
หมายเหตุ
สนใจติดตามข่าวสารเกี่ยวกับวิชาชีพบัญชีใน สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ (FAP) ได้นะคะ
ขอบคุณค่ะ
นริสรา กาญจนาเพ็ญกุล
23/4/2563